ผมมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเอสเปรสโซจนเกือบลืมไปแล้วว่ากว่าจะถึงวันนี้ (คือวันที่พบว่าตัวเองชอบที่จะดื่มแต่เอสเปรสโซ) แต่ก่อนก็เคยเป็นคนดื่มกาแฟกึ่งสำเร็จรูป จนเปลี่ยนมาเป็นกาแฟลาเต้และคาปูชิโน่ตามลำดับ ย้อนกลับไปวันเก่าๆ ถามว่าทำไมเราถึงเลือกดื่มแบบนั้น อธิบายง่ายๆ ได้ว่าเอสเปรสโซมันน้อยไป และขมมาก กาแฟดำร้อนน้ำเยอะๆ อย่างอเมริกาโน่ก็ยังขม จนได้ดื่มกาแฟเยอะขึ้น ได้เจอกาแฟที่ดีๆ บ้าง พยายามทำกาแฟให้ได้ดีบ้าง ใช้เวลาอยู่นานโขกว่าจะพบว่าเอสเปรสโซจริงๆ แล้วมันมหัศจรรย์ขนาดไหน
ดังนั้นเมื่อเกิดความมุ่งมั่นในใจว่าจะรณรงค์ให้คนมาดื่มเอสเปรสโซกัน ทางหนึ่งคือพยายามสร้างความเข้าใจในเครื่องดื่ม วิธีการดื่ม หรือประเพณีต่างๆ ให้กับผู้บริโภคทั่วไปให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจนี้จะทำให้แต่ละท่านค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น ว่าเครื่องดื่มแบบไหนที่เราชอบหรือเหมาะกับตัวเองที่สุด เมื่อความรู้แบบนี้กระจายไปในวงกว้างในที่สุดจำนวนผู้ดื่มเอสเปรสโซก็จะมากมายขึ้นเอง
อินโฟกราฟฟิกชิ้นหนึ่งที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและช่วยอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจเครื่องดื่มเอสเปรสโซแบบง่ายๆ ออกแบบโดยโลเกช ดาห์การ์ อธิบายโดยใช้รูปกาแฟ 9 ถ้วย ดังนี้
ควรทำความเข้าใจกับคำว่า “เครื่องดื่มเอสเปรสโซ” เสียก่อนว่าหมายถึงอะไร
เอาแบบสั้นๆ คำว่า”เอสเปรสโซ” ถือเป็นวิธีการสกัดกาแฟวิธีหนึ่งโดยเราใช้น้ำที่มีความดันสูงมากไหลผ่านกาแฟ กาแฟที่ได้ออกมามีรสเข้มข้นมาก มีครีมลอยอยู่ข้างบน(เรียกว่าครีมา) วิธีการที่ใช้ความดันน้ำสูงแบบนี้เราเรียกว่าเป็นวิธี “เอสเปรสโซ” กาแฟที่สกัดออกมาได้เราก็ยังเรียกมันว่า “เอสเปรสโซ” เช่นกัน เอสเปรสโซนี้เองหากเรานำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ จะทำให้ได้เครื่องดื่มที่หลากหลายตามมา เราเรียกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเอสเปรสโซว่า “เครื่องดื่มเอสเปรสโซ”
อินโฟกราฟฟิกของ ดาร์กาห์ เป็นแค่ตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจชื่อเครื่องดื่มที่มีหลากหลายบนกระดานในคาเฟ่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กาแฟเอสเปรสโซถ้าเสิร์ฟแบบไม่เติมอะไรเลยเราเรียกเมนูนี้ว่า “เอสเปรสโซ” (ก็คือที่ผมบอกว่าเดี๋ยวนี้ผมดื่มเป็นประจำนั่นแหละ) แต่ถ้าหยอดโฟมนมเข้าไปด้านบนซักหน่อยเราจะเรียกว่า “เอสเปรสโซมัคคีอาโต้” ที่มาของชื่อนั้นได้มาจากภาษาอิตาเลี่ยนต้นฉบับของเมนูนี้ที่คำว่ามัคคีอาโต้แปลว่าแต้มไว้หรือทำเครื่องหมายไว้(ในที่นี้คือเอาเอสเปรสโซมาแล้วแต้มด้วยโฟมนม) สำหรับคนที่ชอบกาแฟเข้มข้นแต่ต้องการโฟมนมเล็กน้อยเพื่อสัมผัสที่นุ่มนวลในลิ้นหรือลดความขื่นขมของกาแฟลงไปบ้าง
เมนูอื่นๆ ก็จะมีส่วนผสมหรือสัดส่วนของส่วนผสมต่างๆ แตกต่างกันไป สังเกตว่าในไดอะแกรมนี้ไม่ได้บอกปริมาณของส่วนผสมไว้ว่าต้องเท่าไหร่แน่ แต่ใช้ภาพเพื่อแสดงสัดส่วนของส่วนผสมแค่พอสังเขป นักดื่มมือใหม่ควรเข้าใจว่า นี่คือความคิดรวบยอดหรือ concept ของเครื่องดื่มแต่ละชื่อซึ่งมีความเป็นสากลพอสมควร เหมือนกับในเรื่องอาหารที่เรารู้ว่าในแกงโน่นนี่ควรมีส่วนผสมสำคัญอะไรบ้าง หน้าตาและรสชาติควรออกมาอย่างไร โดยไม่สำคัญว่าต้องใส่อะไรลงไปเท่าไหร่เป๊ะ ถ้าเราเอาเอสเปรสโซมาผสมน้ำร้อนเข้าไปอย่างนี้เราเรียกว่ากาแฟอเมริกาโน่ โดยยังไม่สนใจว่าใส่น้ำเข้าไปเท่าไหร่ เอสเปรสโซกี่ออนซ์ หรือใช้ผงกาแฟกี่กรัม แต่หากเติมนมเข้าไปแทนน้ำ กาแฟถ้วยนี้จะไม่ใช่กาแฟอเมริกาโน่อีกต่อไป
ในความเป็นจริงร้านกาแฟแต่ละร้าน หรือวัฒนธรรมกาแฟในแต่ละประเทศอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างไปจากไดอะแกรมของดาห์การ์ เช่นขนาดของภาชนะ สัดส่วนของส่วนผสม หรือชื่อเรียกรวมถึงสูตรที่ใช้ในแต่ละเมนูว่าจะใส่อะไรเท่าไหร่ แนวทางที่ร้านกาแฟใช้โดยมากคำนึงถึงความคุ้นเคยและความเข้าใจของลูกค้าของตัวเองเป็นหลัก พูดง่ายๆ คือทำออกมาแล้วต้องขายได้เรื่องผิดถูกประเพณีนั้นเป็นเรื่องรอง อย่างไรก็ตามต้องนับว่างานของดาห์การ์ชิ้นนี้ช่วยอธิบายได้มากแล้วและมีความเป็นสากลเอาไว้ใช้อ้างอิงได้ตามสมควร อีกทั้งยังอนุญาตให้นำไปเผยแพร่ได้โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ถือเป็นคุณูปการอย่างมากต่ออุตสาหกรรมกาแฟ
ที่ผมอยากเห็นมากกว่านี้และรออยู่ว่าจะมีใครทำให้ คืออินโฟกราฟฟิคของเครื่องดื่มเอสเปรสโซที่เป็นรายการเครื่องดื่มเย็น ด้วยเหตุที่ในเมืองไทยเรานิยมกันมากกว่าและยังต้องทำความเข้าใจกันอีกพอสมควร ดีไซน์เน่อท่านใดอยากลองทำแต่ไม่แน่ใจเรื่องกาแฟผมยินดีให้คำแนะนำนะครับ
ท่านสามารถดาวน์โหลดอินโฟกราฟฟิคของ Dhakar ได้ที่ Espresso Drinks
อ่านเงื่อนไขการใช้อินโฟกราฟฟิคชิ้นนี้ได้ที่ lokeshdakar.com
ขอบคุณมาก ครับ