ยุทธศาสตร์กาแฟปี 53

ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA เมื่อเข้าสู่ปี 2553 รายการสินค้ากาแฟจะมีการปรับลดภาษีนำเข้าในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วเหลือ 0% และเมล็ดกาแฟดิบที่เราเคยตั้งไว้สูงถึง 90% จะเหลือเพียง 5%

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ที่โดนเต็มๆ เลยคือเกษตรกรผู้ปลูกของเราจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟดิบที่ต้นทุนต่ำกว่าจากประเทศเวียตนาม

อีกส่วนหนึ่งที่น่าจะโดนด้วยคือผู้ผลิตกาแฟคั่วและกาแฟกึ่งสำเร็จรูป เพราะจะมีสินค้านำเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

แต่สำหรับร้านกาแฟ หรือกลุ่มผู้บริโภคกาแฟ ถือว่าจะได้เลือกใช้สินค้าหลากหลายขึ้นและน่าจะได้ในราคาที่สมเหตุผลมากกว่าเดิม

การรับมือกับผลกระทบ

เท่าที่ได้ยินข่าวมา รัฐฯ ได้ตั้งงบประมาณไว้ และให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องวางแผนใช้งบประมาณนั้นในการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ใจความสำคัญของยุทธศาสตร์มุ่งไปที่ความพยายามลดต้นทุนในการผลิตลง หรือเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นในพื้นที่ปลูกเท่าเดิมเช่นจากที่เคยได้ไร่ละ 200 กก. จะต้องพยายามให้ได้ไร่ละ 300 กก. เป็นต้น โดยมีต้นทุนของประเทศเวียตนามเป็นตัวเปรียบเทียบ นอกจากนี้ยังต้องวางมาตรฐานด้านคุณภาพประกอบกันไปด้วย เพื่อให้กาแฟแต่ละเกรดซื้อขายกันในราคาที่เหมาะสม

มุมมอง

ส่วนตัวผมคิดว่าการลดภาษีนำเข้าเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรมแน่นอน เพราะจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตกาแฟไทยในส่วนต่างๆ ต้องตื่นตัวอย่างมาก ที่จะกระทบมากกว่าน่าจะเป็นตลาดกาแฟระดับกลางถึงระดับพรีเมี่ยม ที่ลูกค้ามีกำลังซื้อและเลือกดื่มกาแฟที่ดีกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ ตลาดนี้จะมีแบรนด์นำเข้าเข้ามาให้เปรียบเทียบ ส่วนโรงคั่วไทยก็จะมีเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าเข้ามาเบลนด์สู้ เราอาจได้เปรียบในแง่ความสดใหม่ การขนส่ง และความใกล้ชิดกับลูกค้า แต่อย่างไรเสียก็ต้องพยายามทำคุณภาพให้ทัดเทียมให้ลูกค้ายอมรับให้ได้  ส่วนตลาดกลางถึงล่างคงต้องดูว่ากาแฟเวียตนามเมื่อนำเข้าแล้วต้นทุนเป็นอย่างไร ถ้าไม่ต่ำไปกว่าของไทยผมเชื่อว่าตลาดนี้ยังเป็นตลาดหลักที่ใช้เมล็ดกาแฟไทยอยู่ และยังคงสไตล์คั่วเข้มเพื่อชงกาแฟเย็นแบบถูกปากคนไทยไว้ แต่หากต้นทุนกาแฟเวียตนามต่ำกว่าจะเป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกับเกษตรกรไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

รวมความ

ผมมองว่าเราไม่น่าจะต้องกังวลอะไรมาก การรับมือควรแยกส่วนออกไปตามตลาด หรือ segment คือถ้าสวนไหนอยู่ในชัยภูมิที่ดี กาแฟมีบุคคลิกชัดเจน เราก็ทำให้มันดีสุดๆ ไปเลยและมองตลาดส่งออกไปด้วย สวนไหนกาแฟมันด้อยกว่าเราก็เน้นผลผลิตเพื่อกดต้นทุนไว้ ขายกันในประเทศ ได้เปรียบเรื่องค่าขนส่ง เอาไว้สู้กับกาแฟเวียตนาม

โรงคั่วไทยขายตลาดล่างคงต้องซื้อกาแฟที่ต้นทุนต่ำ ถ้าขายตลาดบนก็ต้องสร้างแบรนด์และใช้กาแฟนำเข้าเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพ กาแฟกึ่งสำเร็จรูปหรือกาแฟพร้อมดื่มของไทย ก็ต้องปรับปรุงแบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมทั้งใช้ความเข้าใจตลาดที่มีมากกว่าเป็นจุดแข็ง 

การรับมือผมเชื่อว่าต้องแยกส่วนกันครับ จะมองรวมกันไปหมดไม่ได้ มันจะแก้กันกันยาก การวางยุทธศาสตร์ก็ต้องเป็นยุทธศาสตร์ของใครของเขา ถ้ารัฐฯ โยนเงินมาให้ ก็ควรจะแบ่งกันไปใน segment ต่างๆ เพื่อใช้ตามยุทธศาสตร์ของ segment นั้นๆ

You can leave a response, or trackback from your own site.

4 Responses to “ยุทธศาสตร์กาแฟปี 53”

  1. skipper says:

    เวียดนามาแรงเกือบทุกเรื่องเลยมั้งครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยแซงไทยชนิดไม่เห็นฝุ่นแน่ๆ

    เรื่องสารกาแฟ มองจากมุมไกลๆแบบผม คิดว่าตีตลาดไทยได้เฉพาะรายเล็กๆ เพราะโรงคั่วที่มีดอยกาแฟของตัวเองก็ยังคงต้องใช้กาแฟไทยอยู่ดี (หรือเปล่า?)

  2. suansiam says:

    ส่วนตัวคิดว่าตลาดบนไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่หรอกฮะ ผมว่าดีซะอีก จะได้ลองกาแฟใหม่ๆที่เดิมไม่มีคนเอาเข้ามา

    ส่วนตลาดล่าง ถ้ากาแฟเวียดนามเข้ามาแล้วเรายังทำต้นทุนให้สู้เค้า(ซึ่งต้องวิ่งกันมาเป็นพันกิโลฯ)ไม่ได้เนี่ย

    ก็คงต้องมาดูแล้วละฮะ ว่าไปปลูกอย่างอื่นดีกว่ามั๊ง

    เหนือสิ่งอื่นใด นโยบายภาครัฐไม่เคยนิ่งฮะ มันเลยไปไม่ถึงไหนซะที

  3. BlueOwl says:

    คงจะกระทบในตลาด mass อย่างแรง ชาวไร่ที่ผลิตเมล็ดกาแฟส่งโรงงานกาแฟ Instant ก็ต้องกระทบไปด้วย เวลานี้ ลาวก็เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนี้เหมือนกัน

    ตลาดกาแฟในระดับกลาง – บน คงไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่

    ภาวนาอย่าให้ชาวไร่กาแฟถอดใจโค่นต้นกาแฟ ไปปลูกอย่างอื่นเสียหมด
    เหมือนที่ชาวไร่ส้มทางภาคเหนือเจอกับส้มจีนมาแล้ว

    ปล.
    1. แวะมาชิมกาแฟที่นี่สองครั้ง espresso ที่เสิร์ฟมา หนักหน่วงมาก
    (คงจะเป็น house blend)

    2. ยังมี cupping อยู่หรือเปล่า? เคยเห็นแว้บๆ ว่ามีทุกสัปดาห์

  4. BK says:

    เท่าที่เคยอ่านเกี่ยวกับกาแฟเวียดนาม เขาส่งออกโรบัสต้าอันดับหนึ่งของโลก แซงบราซิลไปเลย ส่วนอาราบิก้า ผมไม่ทราบเหมือนกัน ไม่รู้จะไปหาข่าวสารอัพเดทที่ไหนดี

    โดยส่วนตัวแล้วนะครับ กาแฟพรีเมี่ยม น่าจะกระทบน้อย แต่กาแฟพวก instant ที่ใช้ โรบัสต้า ผมว่ามีผลแน่นอน แต่เราก็สู้เวียดนามไม่ได้อยู่แล้ว ที่โน่นรัฐเขาสนับสนุน ที่นี่ไม่ต้องพูด เพราะฉะนั้นรัฐบาลเองต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เกษตรกรในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ และการสร้างแบรน : )

    ตอนนนี้ผมเริ่มสังเกตดูแล้วว่าประเทศไทยยังมีภูมิประเทศตรงไหนที่น่าจะเป็นแหล่ง เพาะปลูก แต่ดูแล้วมันไม่ค่อยจะมีเลย

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes